กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก

ก.วิทย์ฯ เผยโฉมเครื่องเคลือบกระจกฝีมือคนไทย ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในประเทศ

พิมพ์ PDF

  
              กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยโฉมเครื่องเคลือบกระจกฝีมือคนไทย ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) กับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เตรียมใช้บำรุงรักษากระจกกล้องโทรทรรศน์ ของหอดูดาวแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ จ. เชียงใหม่ ที่มีขนาด 2.4 เมตร หากติดตั้งเสร็จคาดช่วยประหยัดงบประมาณได้มากกว่ากว่าสิบล้านบาท
              ดร.ศรัณย์  โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า กล้องโทรทรรศน์หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ตั้งอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระจก 2.4 เมตร ถือได้ว่าเป็นกระจกกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระจกเคลือบผิวด้วยอลูมิเนียม มีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงได้ดี ทำให้สามารถบันทึกภาพวัตถุท้องฟ้าที่อยู่ไกลมากๆ และมีความสว่างน้อยได้ดี แต่พบว่าเมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง อลูมิเนียมที่เคลือบอยู่บริเวณผิวกระจกกลับค่อยๆ เสื่อมสภาพและเกิดการหลุดลอก ทำให้ประสิทธิภาพการสะท้อนแสงของกระจกลดลง ส่งผลให้ภาพที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์มีคุณภาพลดลงไปด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาและทำความสะอาดกระจกด้วยการเคลือบผิวกระจกด้วยอลูมิเนียมอย่างน้อยทุกๆ 2 ปี เพื่อให้คงประสิทธิภาพในการสะท้อนแสงได้ดี แต่เนื่องจากในประเทศไทยไม่มีเครื่องเคลือบกระจกที่จะสามารถรองรับกระจกขนาดใหญ่ถึง 2.4 เมตร และหากสั่งซื้อจากต่างประเทศจะมีราคาไม่ต่ำกว่า 35 ล้านบาท สดร. จึงร่วมกับ สซ. ออกแบบและพัฒนาระบบเคลือบกระจก เพื่อผลิตเครื่องเคลือบกระจกขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีการเคลือบกระจกที่ทันสมัยและคุณภาพดีทัดเทียมกับการนำเข้าจากต่างประเทศ  นอกจากนี้เครื่องเคลือบกระจกดังกล่าวยังสามารถเคลือบกระจกสะท้อนแสงของกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดต่างๆได้ พร้อมให้บริการแก่สถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างที่สนใจได้
  

กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระจก 2.4 เมตร

 

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา



              นายสำเริง ด้วงนิล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาวิศวกรรม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า เครื่องเคลือบกระจกที่ผลิตขึ้นนี้เป็นระบบสุญญากาศ ใช้หัวพ่นสารเคลือบชนิด Magnetron Sputtering ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเรียงตัวของโลหะบนพื้นผิวกระจกมีความเรียบสม่ำเสมอ ควบคุมความหนาของชั้นโลหะให้มีความสามารถในการสะท้อนแสงได้ดี และยังสามารถเคลือบโลหะชนิดอื่นๆ เช่น ทองคำ ทองแดง รวมถึงซิลิกาได้อีกด้วย
              ศ.น.ท.ดร. สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า ทาง สซ.ได้ดำเนินการออกแบบพัฒนา จัดสร้างอุปกรณ์และเครื่องมือสุญญากาศระดับสูงเพื่อให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาโดยตลอด จึงมีบุคลากรที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถทางด้านเทคโนโลยี ตลอดจนมีความสามารถและความชำนาญ ในงานการออกแบบและสร้างเครื่องเคลือบกระจกที่มีคุณภาพสูงได้ นอกจากนี้ผลงานดังกล่าวยังเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ถือเป็นอีกหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทยที่สามารถผลิตเครื่องเคลือบกระจกขึ้นเองได้ ที่สำคัญมีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่าครึ่งหนึ่ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการสร้างและประกอบชิ้นส่วนทั้งหมดใกล้เสร็จสมบูรณ์กว่าร้อยละ 80 หากเสร็จสมบูรณ์จะนำมาติดตั้งที่กล้องโทรทรรศน์หอดูดาวแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพร้อมใช้งานประมาณปลายปี 2556

 

- - - - -  - - - - - -  - - - - -



ฝ่ายประชาสัมพันธ์  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-225569 ต่อ 210, 081-8854353 โทรสาร 053-225524
E-mail: อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน   www.narit.or.th  twitter: @N_Earth  www.facebook.com/NARITpage

ฝ่ายประชาสัมพันธ์  สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
โทร. 044-217040 ต่อ 1251-2  โทรสาร 044-217047
E-mail: อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน   www.slri.or.th   www.facebook.com/SLRI.THAILAND
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โทร.1313
 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป