น้ำมันแบบชีวภาพ พัฒนาถังเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์แบบเคลื่อนที่ หากสำเร็จเตรียมขยายผลสู่เชิงพาณิชย์
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค/สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบริษัท คีนน์ จำกัด ร่วมดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาถังเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ขนาดเล็กแบบเคลื่อนย้ายได้สำหรับการบำบัดน้ำเสียที่มีไขมันปนเปื้อนในโรงงานขนาดใหญ่ เนื่องจากถังเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ใช้ง่าย สะดวกทำให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตสารชีวบำบัดภัณฑ์ใช้ภายในโรงงานหรือสถานประกอบการได้ จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการขนส่ง ค่าบรรจุภัณฑ์ และค่าบริหารจัดการที่เกิดขึ้นในโรงงาน
ดร. กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค/สวทช.) กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้เป็นผลสืบเนื่องจาก โครงการร่วมวิจัยระหว่างบริษัท คีนน์ จำกัด และ ไบโอเทค เรื่อง “การผลิตแบคทีเรียที่สามารถย่อยสลายน้ำมันปิโตรเลียมเพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์ทางการค้า ภายใต้แบรนด์สินค้า "คีนน์" ซึ่งบริษัทได้เปิดตัวสารชีวบำบัดภัณฑ์ดังกล่าวภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ KEEEN เมื่อปี 2553 และมีวางขายตามท้องตลาดทั่วไปในขณะนี้ โดยที่ผ่านมาโรงงานและภาคอุตสาหกรรมที่ต้องบำบัดน้ำเสียปนเปื้อนไขมันในปริมาณมาก มีความต้องการใช้สารชีวบำบัดภัณฑ์ในปริมาณที่สูง ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสารและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ทีมวิจัยจึงได้ร่วมกันพัฒนาถังเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ขนาดเล็กแบบเคลื่อนย้ายได้ ขนาดไม่เกิน 100 ลิตรขึ้น เพื่อผลิตจุลินทรีย์ที่ใช้บำบัดน้ำเสียปนเปื้อนน้ำมัน มุ่งพัฒนาสูตรอาหารเลี้ยงเชื้อที่สามารถใช้เลี้ยงจุลินทรีย์ย่อยสลายน้ำมันที่คัดแยกได้จากโครงการวิจัยเดิม โดยใช้ระยะเวลาเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์เพียง 24 - 48 ชั่วโมง มีระบบเติมอากาศและระบบจัดการน้ำเข้า - ออกแบบอัตโนมัติ การดูแลรักษาระบบง่ายและสะดวกต่อผู้ใช้งาน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะใช้เวลา 18 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 – ตุลาคม 2557 โดยได้รับทุนวิจัยและพัฒนาจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัท คีนน์ ตั้งแต่การพัฒนาการผลิตจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายคราบน้ำมัน และปรับปรุงสูตรอาหารเลี้ยงเชื้อที่เหมาะสม ตลอดจนถึงการนำถังเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ขนาดเล็กนี้ไปทดสอบจริงระดับภาคสนาม ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตสารชีวบำบัดภัณฑ์ใช้ภายในโรงงานหรือสถานประกอบการได้เอง สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการขนส่ง ค่าบรรจุภัณฑ์ และค่าบริหารจัดการที่เกิดขึ้นได้
นายวสันต์ อริยพุทธรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คีนน์ จำกัด เปิดเผยว่า ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ KEEEN ได้ไปคว้ารางวัลนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 9 รางวัล และได้ขยายตลาดออกไปยังต่างประเทศ โดยปัจจุบันได้จัดตั้งตัวแทน จำหน่ายสินค้าในอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาดังกล่าว พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เหมาะสมกับความต้องการและการใช้งานของลูกค้า ซึ่งการร่วมมือกับไบโอเทค สวทช. ในการคิดค้นพัฒนาระบบผลิตจุลินทรีย์ เพื่อใช้บำบัดน้ำเสียปนเปื้อนน้ำมันนี้ จะเป็นการเปิดตลาดสินค้าไปยังโรงงาน ที่มีปริมาณน้ำเสียสูง และที่สำคัญเป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสีเขียวในภาคการผลิต เนื่องจากการเทคโนโลยีการบำบัดนี้ ใช้จุลินทรีย์ที่คัดเลือกจากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ KEEEN ซึ่งเป็นสารชีวบำบัดภัณฑ์ (Bioremediation Agent) เป็นตัวอย่างหนึ่งของการวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ไบโอเทคดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 2 ศตวรรษ ที่ครอบคลุมตั้งแต่การศึกษาเพื่อการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจุลินทรีย์อย่างยั่งยืน โดยจุลินทรีย์เป็นแหล่งผลิตสารสำคัญ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ ทั้งด้านการเกษตร ใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชแทนการใช้สารเคมี หรือเป็นแหล่งเอนไซม์อาหารเสริมในสัตว์
"ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีออกไปยังภาคธุรกิจไทยแล้ว ดังนั้นศักยภาพของทรัพยากรชีวภาพต่อการสร้างเศรษฐกิจไทยจึงยังมีอีกมากมายให้ได้ศึกษาค้นคว้า เราควรส่งเสริมพัฒนาการวิจัย ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ไทย"ดร. กัญญวิมว์ ผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าว