สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง (ไทยเอสที) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาหลักสูตร วิศวกรรมศาสตร์สาขากระบวนการผลิตทางชีวภาพ และวิทยาศาสตร์สาขาเภสัชชีวภาพ เร่งผลิตบัณฑิตและสนับสนุนงานวิจัย ป้อนภาคอุตสาหกรรม ยกระดับความสามารถ ลดการนำเข้า การผลิตยา วัคซีน และสารชีวภัณฑ์ทางการแพทย์ในประเทศ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตวัสดุชีวภาพ(Bio Material) ของภูมิภาคเอเชียน
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า การนำเข้ายาชีววัตถุ(Biopharmaceutical products) ในปี 2555 ของประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ถือเป็นการใช้งบประมาณของประเทศในการจัดสรรซื้อยาดังกล่าวในปริมาณมาก ซึ่งหากสามารถผลิตยาชีววัตถุขึ้นภายในประเทศได้ จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าและเพิ่มมูลค่าจากการผลิตภายในประเทศ อีกทั้งเป็นการปูทางให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตวัสดุชีวภาพ ของภูมิภาคเอเชียในอนาคต
“กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มุ่งเน้นเพิ่มบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมการผลิตยาชีววัตถุ จึงมอบหมายให้ ไทยเอสที หารือกับ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อร่วมกันจัดตั้งสาขาวิชาใหม่ โดยเข้าร่วมออกแบบหลักสูตร จัดทำและกำหนดเงื่อนไขมาตรฐานคุณภาพบัณฑิต จัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาเฉพาะทางรองรับการเรียนการสอนและการวิจัย โดยมีเป้าหมายผลิตบัณฑิตและผู้เชี่ยวชาญให้ได้ไม่ต่ำกว่า 300 คน ภายใน 5 ปี ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ในปี 2557” นายวรวัจน์ กล่าว
ศ.ดร.วัลลภ สุระกำพลธร ผอ. ไทยเอสที กล่าวว่า ยาชีววัตถุนั้นแตกต่างจากยาทั่วไปเพราะได้มาจาก สิ่งมีชีวิต ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต เพื่อให้ได้คุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยเป็นพิเศษ ในการนำไปรักษาและป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ เช่น กลุ่มโรคเมตาบอลิก( โรคอ้วนพันธุกรรม/โรคเบาหวาน) กลุ่มโรคทางโลหิตวิทยา ได้แก่ โรคโลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไต โรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น หากจะพัฒนาการผลิตยาชีววัตถุในประเทศไทย เราต้องให้การสนับสนุนด้านการศึกษาโดยมุ่งผลิตผู้เชี่ยวชาญสาขาเทคโนโลยีเฉพาะทาง ได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์สาขากระบวนการผลิตทางชีวภาพ และวิทยาศาสตร์สาขาเภสัชชีวภาพ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มอบหมายให้ ไทยเอสทีเป็นผู้ประสานงานกับบริษัทเอกชนผู้ผลิตยาชั้นนำของประเทศ ได้แก่บริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด บริษัทผลิตวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจวิจัยพัฒนาและผลิตยาชีววัตถุ เพื่อร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเฉพาะทางที่เป็นที่ต้องการของภาคเอกชน นอกจากนี้ ไทยเอสทียังประสานงานร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมกระบวนการผลิตทางชีวภาพ ให้สนับสนุนผลงานการวิจัยและองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดหลักสูตรการศึกษา อีกด้วย
ศ.ดร.วัลลภ กล่าวถึงโอกาสในการทำงานของผู้เรียนสาขาวิชานี้ว่า นอกจากหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์สาขากระบวนการผลิตทางชีวภาพ และวิทยาศาสตร์สาขาเภสัชชีวภาพ จะเป็นหลักสูตรแรกที่สามารถผลิตบัณฑิตได้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยาชีววัตถุแล้ว บัณฑิตที่จบมายังสามารถเข้ามาทำงานในธุรกิจอาหาร พลังงาน โดยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการกำจัดของเสียในโรงงานโดยใช้ชีววัตถุ เช่น จุลินทรีย์ เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งด้วย
ขอข้อมูลเพิ่มเติม : นางสาวรติมา เอื้อธรรมาภิมุข สนง.คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ
โทร: Tel. 662 160 5432 Ext 701
Website: www.sti.or.th