กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หารือสถาบันการศึกษา และบริษัทเอกชนชั้นนำ เร่งผลักดันหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการเกษตร สาขาปรับปรุงพันธุ์พืช เน้นปรับปรุงพืชเศรษกิจพันธุ์ใหม่ ผลผลิตเพิ่ม ต้านทานโรค-แมลง คุณภาพสูง และปลอดภัย เตรียมพร้อมครัวไทยสู่ครัวโลก ตั้งเป้าผลิตนักปรับปรุงพันธุ์พืช 300 คนใน 3 ปี
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ข้อมูลว่า สืบเนื่องจากยุทธศาสตร์ประเทศในเรื่อง “ครัวไทยสู่ครัวโลก” และ “ความมั่นคงทางอาหาร” โดยทางรัฐบาลมีเป้าหมายสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกอาหารไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี และให้ไทยเป็น One-Stop-Service ด้านอาหาร ในอนาคต ในปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนพันธุ์พืชพันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นต้นทางของกระบวนการผลิตอาหาร นอกจากนี้การขาดแคลนนักวิจัยโดยเฉพาะนักปรับปรุงพันธุ์พืชเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรง ดังนั้น กระทรวงวิทย์ฯ จึงเข้ามามีส่วนช่วยในการสร้างบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านออกมาป้อนตลาด เป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิตทางการเกษตร ทั้งนี้กระทรวงวิทย์ฯ ได้จัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนทุนการศึกษา โดยขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (สวทน.) และสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง(ไทยเอสที) กำลังดำเนินการพัฒนาหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการเกษตร สาขาการปรับปรุงพันธุ์พืช (Plant Breeding) โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาต่างๆ สถาบันวิจัย และบริษัทเอกชนชั้นนำ เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตร เป้าหมายให้ได้นักปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยจะเน้นการปรับปรุงพันธุ์ในพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ลำไย ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ให้ได้พันธุ์ใหม่ที่สามารถให้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น แก้ปัญหาการเพาะปลูก ต้านทานโรคและแมลง และมีคุณภาพด้านโภชนาการสูงขึ้น สามารถสร้างมาตรฐานและความปลอดภัยในสินค้าเกษตรได้ตรงตามความต้องการของตลาด และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศด้วย
นายวรวัจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สวทน. และไทยเอสที กำลังจะจัดการประชุมระดมสมองขึ้นในวันที่ 26 เมษายนนี้ ร่วมกับ ภาคเอกชน และ สถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอนแก่น สงขลานครินทร์ เชียงใหม่ เป็นต้น เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ตรงกับความต้องการ เช่น การคัดเลือกพันธุ์พืช การปรับปรุงพันธุ์พืชพื้นเมือง และพันธุ์พืชป่าในประเทศ โดยเป็นหลักสูตรตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ถึง ปริญญาเอก ที่มีความชำนาญเฉพาะทางตรงตามความต้องการของภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตนักปรับปรุงพันธุ์พืชให้ตรงตามชนิดของพืชเศรษฐกิจ ไม่ต่ำกว่า 300 คน ใน 3 ปี
---------------------------------------------------
ขอข้อมูลเพิ่มเติม : นางสาวรติมา เอื้อธรรมาภิมุข
สนง.คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ
โทร: Tel. 662 160 5432 Ext 701
www.sti.or.th