ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทกับการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ได้มีการพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวก แต่ในขณะเดียวกันการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ใช้เพื่อตอบสนองปัจจัยขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ดังเช่นอาหารดัดแปรพันธุกรรม อย่างไรก็ตามยังมีหลายคำถามเกี่ยวกับอาหารดัดแปรพันธุกรรมที่ต้องการคำตอบ อาหารดัดแปลงพันธุกรรม หรือ Genetically modified foods (GM foods) คืออาหารที่ทำมาจากสิ่งมีชีวิตที่มีการดัดแปรพันธุกรรม ซึ่งเป็นผลผลิตมาจากเทคนิคทางห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ โดยมีการนำสารพันธุกรรมจากเซลล์ของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งไปใส่ในสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง หรือที่เรียกว่าเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม เพื่อทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นมีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติที่ดีขึ้น การพัฒนาสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม เริ่มจากความต้องการให้ผลผลิตทางการเกษตรมีความทนทานต่อโรคต่างๆ ที่มาจากแมลงและไวรัส หรือทนต่อสารกำจัดวัชพืช จึงมีการนำสารพันธุกรรมหรือยีนที่ผลิตสารพิษจากแบคทีเรียมาทำการตัดต่อและใส่ในเซลล์ของพืชผลทางการเกษตร การพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรมก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร รวมทั้งผู้บริโภคอย่างมากมาย ซึ่งทำให้มีการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดแมลงและวัชพืชน้อยลง และผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามหลายคนเกิดคำถามที่ว่าอาหารดัดแปลงพันธุกรรมส่งผลเสียอย่างไรบ้างต่อมนุษย์ การบริโภคอาหารดัดแปลงพันธุกรรมอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ หรือพืชดัดแปลงพันธุกรรมอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การก่อให้เกิดอาการแพ้อาหาร เนื่องจากการตัดต่อสารพันธุกรรม อาจกระตุ้นให้เกิดการผลิตโปรตีนแปลกปลอม ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นพิษต่อผู้ที่มีอาการภูมิแพ้อาหารได้ เช่น การตัดต่อสารพันธุกรรมจากถั่วไปยังพืชชนิดอื่น อาจทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษกับผู้ที่แพ้ถั่วได้ ถึงแม้ว่าผู้บริโภคไม่ได้รับประทานถั่วโดยตรง นอกจากนี้การบริโภคอาหารดัดแปลงพันธุกรรม อาจทำให้เกิดการถ่ายโอนยีนจากอาหารดัดแปลงพันธุกรรมไปสู่เซลล์ของร่างกายหรือแบคทีเรียที่อยู่ในระบบย่อยอาหาร ซึ่งการถ่ายโอนยีนดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เช่น การถ่ายโอนยีนที่ต้านทานสารปฏิชีวนะ เป็นต้น สำหรับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากพืชดัดแปรพันธุกรรมนั้น อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนจากของเมล็ดพันธุ์ที่ดัดแปลงพันธุกรรมไปสู่สายพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งการปนเปื้อนดังกล่าวสามารถทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) นั้นเสียสมดุล เช่น พืชที่มีการตัดต่อยีนทำให้สามารถทนทานต่อศัตรูพืชนั้น อาจทำให้แมลงต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเกษตรได้รับผลกระทบไปด้วย อาหารดัดแปลงพันธุกรรมมีประโยชน์มหาศาล แต่อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านต่างๆ ได้มากเช่นกัน ดังนั้นแต่ละประเทศจึงมีข้อกำหนด หรือกฎหมายที่ควบคุมการผลิตอาหารดัดแปลงพันธุกรรมหรือการปลูกพืชที่เป็นวัตถุในการผลิตอาหารดัดแปลงพันธุกรรมนั้นมีความแตกต่างกันไป โดยประเทศทางแถบอเมริกานั้นสามารถปลูกและผลิตอาหารดัดแปลงพันธุกรรมได้ ในขณะที่ประเทศทางแถบยุโรปนั้นไม่อนุญาตให้นำเข้าอาหารหรือพืชที่ดัดแปลงพันธุกรรม ส่วนประเทศแถบเอเชียก็มีข้อกำหนดที่แตกต่างกันไป โดยประเทศไทยนั้นไม่อนุญาตให้ปลูกพืชที่มีการดัดแปลงพันธุกรรม โดยกฎหมายต่างๆ ในประเทศไทยที่ใช้เพื่อควบคุมดูแลความปลอดภัยของพืชดัดแปลงพันธุกรรม และอาหารดัดแปลงพันธุกรรม ได้แก่ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดพืชจากแหล่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้ามฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดให้พืชที่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม เป็นสิ่งต้องห้าม ยกเว้นแต่เพื่อวัตถุประสงค์เพื่อการทดลองวิจัย นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๒๕๑) เรื่องการแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม ซึ่งอาหารประเภทถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง และข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด ที่มีสารพันธุกรรมหรือโปรตีนที่เป็นผลจากการดัดแปลงพันธุกรรม ต้องแสดงข้อความ ดัดแปลงพันธุกรรม ที่อ่านได้ชัดเจน เพื่อให้เป็นข้อมูลแก่ผู้บริโภคก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ อาหารดัดแปลงพันธุกรรมยังคงเป็นที่ถกเถียงกันหลายฝ่าย โดยอาหารดัดแปลงพันธุกรรมได้รับเสียงสนับสนุนจากประเทศที่ผลิตพืชดัดแปลงพันธุกรรม เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศแถบอเมริกาใต้ ในขณะเดียวกันอาหารดัดแปลงพันธุกรรมถูกต่อต้านจากอีกหลายกลุ่มประเทศ เนื่องจากอาหารดัดแปลงพันธุกรรมนั้นอาจส่งผลกระทบต่างๆ ต่อมนุษย์ดังที่กล่าวข้างต้น และประเทศที่ต่อต้านพืชดัดแปลงพันธุกรรมนั้น เห็นว่าผลผลิตทางการเกษตรควรมาจากประเทศที่มีความยากจน เช่น ประเทศในทวีปแอฟริกาและเอเชีย อย่างไรก็ตามคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาวะแวดล้อมของโลกมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณลงลด และอาจไม่เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรโลก ดังนั้นอาหารดัดแปลงพันธุกรรมอาจถือได้ว่าเป็นทางเลือกที่จำเป็นสำหรับอนาคต

