การก้าวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน และเป็นช่วงชีวิตที่สำคัญที่เรียกว่า “วัยรุ่น” คนเหล่านี้เป็นคนที่มีพลัง และจะเป็นอนาคตของครอบครัวและประเทศ แต่ชีวิตเวลานั้นเป็นช่วงเวลาแห่งความสับสน อยากรู้ ต้องการคำตอบเกี่ยวกับ การเปลี่ยนแปลงของทั้งร่างกายและจิตใจ
การทำความเข้าใจ การให้คำตอบกับวัยรุ่นในเรื่องดังกล่าว ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของสังคม ประเพณี วัฒนธรรม รวมทั้งความเชื่อบางอย่างในการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาที่นำไปสู่การกระตุ้นให้มีเพศสัมพันธ์ วัยรุ่นส่วนหนึ่งจึงหาความรู้ด้วยตัวเองหรือจากกลุ่มเพื่อน ทำให้มีความรู้และวิธีคิดไม่รอบด้าน เกิดความเข้าใจที่ผิด มีผลต่ออนาคตของตัวเขา ครอบครัว และสังคมรอบข้าง
ผลของการเข้าใจไม่ถูกต้อง ความรู้ไม่เท่าทันของวัยรุ่น ทำให้วัยรุ่นหญิงส่วนหนึ่งตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ ต้องหยุดหรือเลิกการศึกษา ทั้งที่เป็นวัยที่ต้องเรียนรู้เพื่ออนาคต และยิ่งกว่านั้นวัยรุ่นทั้งหญิงและชายอาจติดเชื้อ HIV หรือ โรคเอดส์ ซึ่งยากต่อการรักษา สังคมขาดความเข้าใจและเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลกลุ่มผู้ติดเชื้อเหล่านั้น
การให้ความรู้เรื่องเพศ หรือเพศศึกษาเป็นเรื่องจำเป็นต่อการเรียนรู้ และมีความสำคัญมาก เพื่อให้กลุ่มวัยรุ่นในวัยเจริญพันธุ์ก้าวผ่านช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิตได้อย่างรู้เท่าทัน มีความเข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึก ความคิดที่แตกต่าง เข้าใจถึงความรัก การรักษาความสัมพันธ์ การดูแลตัวเอง และมีวิธีคิด วิธีเลือกที่นำไปสู่การมีสุขภาวะทางเพศ และมีอนาคตที่สดใสต่อไป
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่สังคม จึงได้ร่วมกับ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) จัดสร้าง “นิทรรศการ Healthy Sexuality – Story of Love – สุขภาวะทางเพศ” ซึ่งให้การเรียนรู้เรื่องเพศรอบด้าน กับกลุ่มนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศในแนวทางที่สร้างสรรค์ สามารถเรียนรู้ได้ตามอัธยาศัย เป็นนิทรรศการที่ออกแบบสำหรับวัยรุ่น ซึ่งมีสาระครอบคลุมทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สุขภาพอนามัย มุมมองทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ นำเสนอผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบ เช่น เกม ชิ้นงานสื่อสัมผัส แบบจำลองต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการคิด วิเคราะห์ และตระหนักถึงธรรมชาติของตัวเอง พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ขณะเดียวกัน ยังสามารถป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม นอกจากนี้ ครูอาจารย์ และผู้ปกครองยังจะได้แนวทางในการสื่อสารเรื่องเพศกับบุตรหลานและนักเรียนผ่านทั้งกิจกรรมและการอบรม ที่จะมีขึ้นตลอดระยะเวลาการจัดแสดงนิทรรศการ
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
“SEX” อยากรู้แต่ไม่อยากถาม
นิทรรศการ “สุขภาวะทางเพศ” ตอบได้มากกว่าเรื่องที่คุณอยากรู้
มาค้นหาคำตอบที่จะไขข้อข้องใจเรื่องเพศอย่างรอบด้านได้ในนิทรรศการชุดนี้ สาระน่ารู้ 6 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 บทนำเข้าสู่นิทรรศการ (Introduction of Exhibition)
พบกับตัวแทนวัยรุ่น 6 คน 6 ลักษณะ และดารา นักแสดงวัยรุ่นที่จะมาทำหน้าที่เล่าเรื่องและแนะนำเนื้อหาในนิทรรศการ
ส่วนที่ 2 ความรักและความปรารถนา (Love and Romance)
เรียนรู้ธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเกิดความรัก รู้จักพฤติกรรมของความรักในรูปแบบต่างๆ และบททดสอบความรักของตัวเอง พร้อมคำตอบทางวิทยาศาสตร์เมื่อมีความรัก
ส่วนที่ 3 ความสัมพันธ์และการสื่อสาร (Relationships and Communication)
ทำความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์และการสื่อสารที่เกิดจากอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด จินตนาการที่แตกต่างระหว่างหญิงและชาย รู้จักการสื่อสารเพื่อความสัมพันธ์ที่ดี เข้าใจถึงวิถีทางเพศที่แตกต่าง และการปฏิบัติตนเมื่อไม่มีความรักต่อกันหรือเมื่อความสัมพันธ์นั้นสิ้นสุดลง
ส่วนที่ 4 เพศสัมพันธ์ การให้กำเนิด และการคุมกำเนิด (Sexuality, Birth and Contraception)
หาคำตอบที่อยากรู้ เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เข้าใจถึงเหตุและผลของการมีเพศสัมพันธ์ การให้กำเนิด และการคุมกำเนิด รวมทั้งวิธีดูแลตัวเอง เมื่อร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง
ส่วนที่ 5 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อเอชไอวี และเอดส์ (Sexuality Transmitted Diseases, HIV and AIDS)
การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่รอบรู้เป็นที่มาของการติดโรค และการติดเชื้อต่างๆ เป็นสาเหตุการแพร่ระบาดของโรคหลายชนิด ทั้งชนิดที่รักษาได้ ชนิดที่ยากต่อการรักษา เช่น โรคเอดส์ เชื้อเอชไอวี ที่ต้องเรียนรู้อย่างเข้าใจ
ส่วนที่ 6 ทางเลือกของฉัน (My Choice)
ชีวิตและอนาคตที่เลือกได้ จากเส้นทางที่หลากหลาย สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ที่จะทำให้เกิด “สุขภาวะทางเพศ”
เว็บไซต์ http://www.museumofsexuality.com/
นิทรรศการเสมือน คลิกที่นี่เพื่อเข้าชมนิทรรศการเสมือน