ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร และคณะอุตสาหกรรมเกษตร และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จัด “ประชุมเชิงปฏิบัติการการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)” เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ SMEs ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอาหาร และนักออกแบบ เพื่อหาไอเดียผลิตภัณฑ์ ผ่านกระบวนการค้นหาความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย สู่ไอเดียใหม่ พร้อมทดสอบไอเดียและต้นแบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้โจทย์ที่ชัดเจน และมีความเป็นไปได้มากที่สุด สำหรับการเตรียมความพร้อมของธุรกิจและรองรับความต้องการของสังคมผู้สูงอายุ
คุณอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ประกอบกับเด็ก เกิดใหม่มีจำนวนน้อยลง ส่งผลให้ประชากรผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา รวมถึงกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ. 2593 ประชากรผู้สูงอายุในโลกจะเพิ่มกว่า 20% หรือประมาณ 2,200 ล้านคน และจากผลสำรวจของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง Aging Society ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มคนอายุ 48 - 57 ปี ในปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
“การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนี้ จะส่งผลถึงการตลาดของสินค้าและแนวโน้มของผู้บริโภค ที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นสัญญาณหนึ่งที่ส่งถึงผู้ประกอบการ SMEs ให้เริ่มทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของความต้องการสินค้าในตลาดโลก และหากผู้ประกอบการ SMEs สามารถวิเคราะห์ทิศทาง ปรับกลยุทธ์การผลิต จากการผลิตอาหารทั่วไป เป็นผลิตอาหารสุขภาพเพื่อสังคมผู้สูงอายุ และเริ่มต้นเจาะตลาดเป้าหมายกลุ่มนี้ได้ก่อน ย่อมมีความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว อีกทั้งยังสามารถรักษาและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในอนาคตได้อีกด้วย”
“สังคมผู้สูงอายุที่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี จะกลายเป็นตลาดใหม่ที่มีขนาดใหญ่และมีศักยภาพในการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการมากที่สุด จึงเป็นโอกาสและจุดเปลี่ยนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ของไทยที่จะขยับตนเองจากการผลิตอาหารทั่วไปสู่การผลิตอาหารสุขภาพเพื่อสังคมผู้สูงอายุที่จะสร้างโอกาสทางการตลาดได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพราะไทยมีข้อได้เปรียบทั้งด้านวัตถุดิบและเทคโนโลยีการผลิตอาหาร ภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์อาหารให้อร่อย และมาตรฐานความปลอดภัยในการผลิตอาหารของไทย ซึ่งเหล่านี้เป็นจุดแข็งที่จะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยสามารถแข่งขันในตลาดกลุ่มนี้ได้” คุณอภิสิทธิ์ กล่าว
![]() |
![]() |
ด้าน นางสาวเสาวภา ยุววุฑโฒ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า “สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร และคณะอุตสาหกรรมเกษตร และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ดำเนินโครงการ “การพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ เพื่อสังคมผู้สูงอายุ (SMART FOOD)” เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทย ในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพสำหรับตลาดผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นตลาดใหม่ ตลาดใหญ่ และเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อ โดยโครงการ SMART FOOD ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 และภายใน 3 ปี (ปี 2559 - 2561) จะสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย่างน้อย 25 ผลิตภัณฑ์ เป้าหมายของโครงการเพื่อช่วยเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ SMEs ไทย ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงและโอกาสทางการตลาดก่อนคู่แข่งขัน เพื่อนำมาวิจัยพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความเหมาะสมกับความต้องการของผู้สูงอายุทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 12 บริษัท”
ข่าวโดย: สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.)
เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวนฤมล รัตนสุวรรณ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร 02 333 3728-3732 โทรสาร 02 333 3834
E-mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน Facebook: sciencethailand
Call center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313