กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก แนะนำกระทรวง นโยบายและยุทธศาสตร์ นโยบายและยุทธศาสตร์ปี 2560 กระทรวงวิทย์ สวทช. และ ออโต้เดสก์ ร่วมขยายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการผลิตดิจิทัลในประเทศไทย

กระทรวงวิทย์ สวทช. และ ออโต้เดสก์ ร่วมขยายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการผลิตดิจิทัลในประเทศไทย

พิมพ์ PDF

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

 

               กรุงเทพฯ, 25 พฤษภาคม 2559 - สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และ ออโต้เดสก์ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการขยายศักยภาพการแข่งขันด้านการผลิตของประเทศไทย โดยเน้นการนำเทคโนโลยี 3 มิติ และระบบการผลิตแบบดิจิทัลที่ล้ำสมัย ไปใช้ในวงกว้างให้ครอบคลุมทั้งวงการอุตสาหกรรม

 

               ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 จะต้องเปลี่ยนผ่านจากโมเดลประเทศไทย 3.0 เป็น “โมเดลประเทศไทย 4.0” เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่การเป็นประเทศในโลกที่หนึ่ง ปรับเปลี่ยนจากประเทศ “รายได้ปานกลาง” เป็นประเทศ “รายได้สูง” โดยปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย “ประสิทธิภาพ” เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย “นวัตกรรม” กลไกหนึ่งที่จะขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจยุคประเทศไทย 4.0 นั้น คือ เทคโนโลยีอุตสาหกรรมยุค 4.0 ซึ่งจะมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาในการผลิตสินค้าต่างๆ มากยิ่งขึ้น จุดเด่นที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ สามารถเชื่อมความต้องการของผู้บริโภคแต่ละรายเข้ากับกระบวนการผลิตสินค้าได้โดยตรง ทำให้โรงงานขนาดใหญ่ไม่ใช่ความได้เปรียบและข้อจำกัดสำหรับผู้ประกอบการเสมอไป ปรากฏการณ์นี้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งยิ่งใหญ่ 

 

               "จากความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง Autodesk กับ สวทช. ในครั้งนี้จะช่วยยกระดับ SME ไทย ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการออกแบบและผลิต รวมทั้งยกระดับความสามารถของบุคลากรไทยให้รองรับอุตสาหกรรมการผลิตในอนาคต นำไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายที่สร้างมูลค่าตามแนวทางของรัฐบาล   อาทิ อุตสาหกรรมทางชีวภาพ  อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมด้านวิศวกรรมและการออกแบบ อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับคุณภาพชีวิต และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อความเข้มแข็งของประเทศต่อไป" ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว

 

               ทั้งนี้ สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ออโต้เดสก์ มุ่งหมายที่จะร่วมกันจัดตั้ง ดิจิทัล แมนูแฟคเจอริ่ง แพลตฟอร์ม (‘Digital Manufacturing Platform’) สนับสนุนแผนแม่บทเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ (National Digital Economy Master Plan) โดยจะมอบสิทธิให้กับวิศวกรและนักวิชาชีพถึง 100,000 คน ทั้งจากองค์กรขนาดเล็กและใหญ่ ในการใช้ระบบ 3 มิติของออโต้เดสก์ ไม่ว่าจะเป็นระบบการออกแบบ การผลิต การจำลองสถานการณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการจัดการงานร่วมกัน รวมถึงการบริการ และการอบรมต่างๆ ของทางออโต้เดสก์ เป็นเวลา 3 ปี

 

               “ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศเรา การผลิตด้วยเทคโนโลยีระบบดิจิทัล  และการพัฒนาทักษะและผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ตลาดที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง ทั้งนี้ การจัดตั้ง ดิจิทัล แมนูแฟคเจอริ่ง แพลตฟอร์ม (‘Digital Manufacturing Platform’) ด้วยการสนับสนุนโดยออโต้เดสก์ จะช่วยผู้ประกอบการในประเทศในการเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการเชื่อมโยงและการทำงานร่วมกันซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดิจิทัล” ดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าว

 

               เทคโนโลยีหลักๆ 2 ตัว ของ ดิจิทัล แมนูแฟคเจอริ่ง แพลตฟอร์ม (‘Digital Manufacturing Platform’) นั้นประกอบด้วย Fusion 360 และ A360 Teamของออโต้เดสก์ ซึ่ง Fusion 360 นั้นรวมไปด้วยซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการออกแบบ (CAD) การผลิต (CAM) และระบบวิศวกรรมผ่านคอมพิวเตอร์ (CAE) ซึ่งสามารถเข้าถึงได้จากเครื่องแมคอินทอช พีซี หรืออุปกรณ์การสื่อสารเคลื่อนที่ โดย Fusion 360 เป็นเครื่องมือแบบควบรวมที่สามารถใช้งานได้ง่าย และได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อรับรองวิถีใหม่ๆ ในการออกแบบและผลิต และยังให้ข้อมูลเชิงบริบท ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจในทุกมิติของโครงการการผลิต รวมทั้งสามารถใช้ร่วมกับทุกคนที่เกี่ยวข้องในโครงการผ่านซอฟต์แวร์ A360 ทั้งนี้ A360 ช่วยพัฒนาวิธีการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย โดยบันทึกข้อมูลและกิจกรรมทั้งหมดของโครงการ ซึ่งนับเป็นแหล่งข้อมูลกลางสำหรับทีมงานเพื่อการทำงานร่วมกัน

 

               “เทคโนโลยี เช่น อินเทอร์เน็ตที่เชื่อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ (Internet of Things) เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน วิทยาการหุ่นยนต์ และเทคนิคการผลิตแบบต่อเติม ล้วนกำลังมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทั้งอุตสาหกรรม โดย ดิจิตัล แมนูแฟคเจอริ่ง แพลตฟอร์ม (Digital Manufacturing Platform) นั้น ถือเป็นการมอบเครื่องมือในการแปลงทุกจุดภายในห่วงโซ่คุณค่าด้านการผลิตให้แก่ผู้เชี่ยวชาญและบริษัทในประเทศ รวมทั้งให้โอกาสประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านการสร้างสรรรค์สิ่งต่างๆ ในอนาคต (Future of Making Things)” คุณราม ทิวาริ ผู้อำนวยการด้านการขายระดับภูมิภาคในอาเซียน ออโต้เดสก์ กล่าว

 

               ดิจิทัล แมนูแฟคเจอริ่ง แพลตฟอร์ม (Digital Manufacturing Platform) จัดเป็นหนึ่งในความคิดริเริ่มต่างๆ ภายใต้การร่วมมือกันในปัจจุบันระหว่าง สวทช. และออโต้เดสก์ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย ทั้งนี้ หน่วยงานทั้งสองยังได้ร่วมมือกันในโครงการวิจัยและสร้างแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี เพื่อการสนับสนุนโครงการพัฒนา สมาร์ต ซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะของประเทศอีกด้วย

 

เกี่ยวกับ สวทช.

               สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 เพื่อมุ่งผลักดันให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองบนเวทีเศรษฐกิจระดับโลก โดยการนำความสามารถอันเหนือชั้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยให้ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมสามารถดำเนินงานได้ดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่ง สวทช. ได้ดำเนินงานผ่านการทำงานร่วมกันของศูนย์ทั้ง 5 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)  ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) และศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC)

 

เกี่ยวกับออโตเดสก์

               ออโตเดสก์ (Autodesk) ช่วยให้ผู้คนให้สามารถจินตนาการ ออกแบบ หรือแม้กระทั่งสร้างสรรค์โลกนี้ให้ดีขึ้น  ผู้ใช้ซอฟต์แวร์ของออโตเดสก์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบอาชีพ วิศวกร สถาปนิก ศิลปินที่ทำงานด้านดิจิทัล นักเรียน หรือผู้ทำงานอดิเรก ก็สามารถใช้ซอฟท์แวร์ของออโตเดสก์ได้ เพื่อปลดปล่อยแนวคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง รวมทั้งแก้ไขปัญหาที่สำคัญต่าง ๆ  สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาเยี่ยมชมได้ที่ autodesk.com หรือติดตาม @autodesk

               ออโตเดสก์ Fusion 360 และ A360 เป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนและเป็นกรรมสิทธิ์ของ Autodesk Inc, และ/หรือบริษัทในเครือ และ/หรือบริษัทลูกในสหรัฐฯ และ/หรือในประเทศอื่นๆ ชื่อสินค้า ชื่อผลิตภัณฑ์ หรือตราสินค้าเป็นของผู้ถือสิทธิ์ดังกล่าว Autodesk สงวนสิทธิ์ในการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์รวมทั้งการนำเสนอบริการ และรุ่น รวมทั้งราคาได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าใดๆ ทั้งสิ้น และจะไม่รับผิดชอบกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการพิมพ์ทั้งตัวหนังสือและภาพที่อาจมีอยูในเอกสารฉบับนี้

© สงวนลิขสิทธิ์ กลุ่มบริษัทออโตเดสก์ 2559




ข้อมูลข่าวโดย : สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ พว.
เผยแพร่โดย : นางสาวนฤมล รัตนสุวรรณ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี
โทร. 02 333 3728-3732   โทรสาร 02 333 3834
E-Mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน     Facebook : sciencethailand    

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
» รมว.วท. ปาถกฐาพิเศษบนเวที Special Luncheon ในหัวข้อ Capturing Value on Thailand Innivation
» 5 โครงการเร่งด่วนขับเคลื่อน SME l 13 กรกฏาคม 2559 l Smart SME
» รายการตอบโจทย์SME ตอน : ทางด่วนสู่ Tech Start Up 13 กรกฎาคม 2559 ( SmartSMETV)
» สนช. จับมือหน่วยงานนโยบายแดนปลาดิบเปิดมุมมองการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0
» ก.วิทย์ โดย ซอฟต์แวร์พาร์ค สวทช. จับมือ สสว. จัดเวทีนำเสนอนวัตกรรมและแผนธุรกิจสำหรับหาเงินทุนหรือผู้ร่วมทุน พร้อมสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพไอซีทีไทยในระดับนานาชาติ
» กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมทัพ 35 หน่วยงานรัฐ-เอกชน เดินหน้า “ประชารัฐร่วมใจยกระดับ โอทอป ด้วย วทน.”
» วว. โชว์ผลงานสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการในงาน SMART SME EXPO 2016
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป